ในการทำงาน ต้องมีการสื่อสารประสานงานต่างๆ มากมาย เราต้องเจอทั้งคำแนะนำ หรือคำตำหนิติเตียน ทั้งที่เป็นผู้ตำหนิผู้อื่น และถูกผู้อื่นตำหนิ เพราะการทำงานทุกอย่าง ต้องมีการผิดพลาดไม่ว่าจะเป็นเรื่องใหญ่หรือเล็ก ไม่มีใครอยากพูดจาไม่ดีใส่กัน แต่ก็ใช่ว่าคำพูดที่ตำหนิกันจะไม่ดีไปเสียหมด เพราะบางทีมันกลับเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เราฮึดสู้กว่าเดิม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันมีเทคนิคในการใช้คำพูด มาดูว่ามีอะไรบ้าง?
คุมน้ำเสียงก่อนพูด :
อย่าคิดว่า เราต้องขู่ให้ฝ่ายตรงข้ามกลัวไว้ก่อน เพราะนั่นเท่ากับว่าเรายอมรับแต่โดยดีว่าคำพูดเราทุกคำไม่มีน้ำหนักพอจะสู้กับคนอื่นได้ ถ้าอยากให้คนอื่นฟัง ต้องพูดอย่างเน้นถ้อยคำ ชัดๆ ไม่ต้องรีบ ไม่ต้องขึ้นเสียง ถ้าคุมสติตัวเองได้ คุมน้ำเสียงตัวเองได้ มันก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะคุมคนฟังให้อยู่ในกำมือเรา
ยึดประเด็นเป็นหลัก :
อยากตำหนิเรื่องไหน ควรพูดให้ตรงประเด็นที่สุด ไม่ออกนอกเรื่อง ไม่ขยายไปถึงเรื่องอื่น ทั้งตัวเราและคนอื่นจะงง อย่าลากอดีต ลากบุคคลที่ 3 ลากบริบทอื่นที่หยุมหยิม ไม่ใช่ประเด็นหลักมาเกี่ยวข้อง
ไม่จี้ปมด้อยคนอื่น :
การนำปมด้อยคนอื่นมาล้อ นอกจากจะไม่ตรงประเด็นที่ตำหนิกัน ยังถือว่าเป็นการพูดจาที่น่าเกลียด ไร้ศักดิ์ศรีที่สุด เพราะนี่คือการแสดงให้เห็นว่าลึกๆ คุณไม่ให้ความเคารพเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเลย พร้อมจะเหยียบเมื่อคนอื่นล้ม พร้อมจะเล่นสกปรกเมื่อตัวเองแพ้
อาวุโสกว่ายิ่งต้องระวัง :
อะไรที่เป็นตำแหน่งที่เหนือกว่า ที่จะเป็นการข่มให้อีกฝ่ายดูด้อยลง ให้วางลงก่อน คิดซะว่านี่คือ “เพื่อน” หรือ “คนในครอบครัว” เช่น “อย่าหาว่าพี่อย่างนั้นอย่างนี้เลยนะ พี่ขอพูดในฐานะที่เป็นพี่น้องกันมานานนะว่า …” การพูดจากันควรเป็นไปในทางที่อบอุ่น เท่าที่จะทำได้ ไม่ใช่การเปรียบเทียบกันหรือเป็นศัตรูกัน
อดทนคือ คนจริง :
ในเมื่อต่างคนก็โตเป็นผู้ใหญ่กันหมด เราก็ควรจะคุยกันแบบผู้ใหญ่ก่อน จำเอาไว้ว่า “จะทำการใหญ่ใจต้องนิ่ง” อย่ารีบร้อนด่ากราดไปซะทุกเรื่อง แม้กระทั่งเรื่องขี้เล็กๆ น้อยๆ ค่อยๆ สังเกต ปล่อยให้ลูกทีมหรือเพื่อนร่วมงานได้ลงมือทำแล้วค่อยฟีดแบ็คทีหลังจะโอเคกว่า เราจะได้ไม่เสียลุค กลายเป็นคนขี้บ่น อดทนต่ำ
กล้าที่จะขอโทษ :
มองภาพรวมของการทำงานให้ออก คำพูดทุกคำคิดไว้เสมอว่า “เราจะถนอมน้ำใจกันมากที่สุด” พูดกันตรงๆ ได้ แต่ไม่ควรแรงใส่กัน สิ่งไหนที่เราพลาด ไม่รู้จริง อย่ารีรอที่จะขอโทษก่อน
ปิดท้ายด้วยการฟื้นฟูความรู้สึกดีๆ ให้กัน :
จบการตำหนิแล้วควรมีการฟื้นฟูจิตใจกันทั้งสองฝ่ายด้วยการกล่าวขอโทษ ขอบคุณ ชมในข้อดีของอีกฝ่าย เพื่อเป็นการรักษาน้ำใจกัน หล่อเลี้ยงพลังใจคนฟังให้ไม่รู้สึกว่าที่ผ่านมาไม่มีดีอะไรเลย อีกทั้งยังเป็นการจบบทสนทนาที่สวย ไม่มีอะไรติดค้างกันอีก เช่น
– “ขอโทษนะที่ต้องพูดตรงๆ แต่ยังไงก็ขอบคุณนะสำหรับการเสียสละเวลารับฟังกัน”
– “ที่จริงเธอเป็นคนเก่งนะ พี่เห็นความตั้งใจในการทำงานเสมอ แต่รอบนี้พี่ขอให้ปรับปรุงอะไรเล็กน้อยหน่อยนะ ถ้าทำได้ พี่จะขอบใจมาก”
การสร้างบรรยากาศถ้อยที ถ้อยอาศัย ตักเตือน แนะนำกันเหมือนคนในครอบครัว จะช่วยให้มนุษย์งานอย่างพวกเรา รู้สึกว่าการตื่นมาทำงานนั้นไม่น่าเบื่อ น่ารำคาญ งานที่ว่ายากลำบาก ก็ดูจะเบาขึ้น เพราะน้ำใจและน้ำคำของคนร่วมงานด้วยกันนี่แหละ
ที่มา : myhappyoffice.com