ทำงานหลายอย่างพร้อมกัน ไปทำไม เมื่อไม่มีผลดี

การต้องรับผิดชอบงานเยอะ ๆ พร้อมกันในเวลาเดียวเป็นเรื่องปกติมากในโลกการทำงาน คนทำงานก็เลยมักจะคิดว่า Multitasking หรือ การทำงานหลาย ๆ อย่างพร้อมกันในเวลาเดียวเป็นเรื่องที่ดี เพราะมันจะเป็นการโชว์ให้เห็นถึงความสามารถในการทำงาน แต่รู้ไหมว่าในความเป็นจริงแล้วสมองของมนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทำหลายงานในเวลาเดียวกัน นอกจากจะไม่ทำให้งานคืบหน้าแล้วยังมีโอกาสที่จะส่งผลเสียต่อสมองอีกด้วย

Multitasking มีผลกระทบต่อสมอง

ในส่วนหนึ่งของงานวิจัยจาก University of Sussex (UK) มีการใช้ MRI สแกนสมองของผู้เข้าทดสอบที่ทำงานแบบ Multitasking แล้วเห็นว่าเกิดจุดขึ้นบริเวณสมองส่วน Anterior Cingulate Cortex (ส่วนหน้าของเปลือกสมอง Cingulate Cortex มีลักษณะคล้ายคอเสื้อ) ที่ควบคุมระบบประสาทอิสระ ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และที่สำคัญคือการควบคุมอารมณ์ การตัดสินใจ และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

ผลวิจัยนั้นสรุปไว้ว่าคนที่ชอบทำงานหลายอย่างพร้อมกัน จะมีความหนาแน่นของสมองส่วนที่ตอบสนองต่อความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและการควบคุมอารมณ์ลดลง ซึ่งนั่นอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ จนอาจเกิดความผิดพลาดมากขึ้นได้

ทำงานพร้อมกันเยอะ ความผิดพลาดก็เยอะตาม

เวลาที่เราทำงานแบบ Multitasking และรับข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งพร้อมกัน เราจะไม่สามารถจดจ่ออยู่กับงานได้อย่างจริงจังเลยสักงาน ทำให้นอกจากจะลดคุณภาพของงานที่เราทำลงแล้ว ยังเพิ่มโอกาสที่งานจะผิดพลาดมากขึ้นด้วย

งานวิจัยของมหาวิทยาลัย Stanford บอกไว้ว่าปัญหาของคนที่ชอบทำหลาย ๆ งานพร้อมกันก็คือจะไม่สามารถแยกแยะข้อมูลซึ่งไม่เกี่ยวข้องออกจากกันได้ นั่นหมายความว่าจะเกิดปัญหาขึ้นทั้งเรื่องของจิตใจและข้อมูลที่ปะปนกันของงานแต่ละงานมากขึ้น ซึ่งถ้าทำงานหนึ่งพลาดไปจะมีผลให้อีกงานได้รับผลกระทบด้วย

ความเครียดและกังวลจะตามมา

ความเครียดหรือกังวลที่เกิดจากการทำงานแบบ Multitasking มีสาเหตุมาจากทั้งความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในแต่ละงาน และการที่สมองผลิต Cortisol หรือฮอร์โมนแห่งความเครียดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเกิดได้จากการทำงานแบบ Multitasking แบบง่าย ๆ อย่างการทำงานอยู่แล้วสลับไปตอบอีเมลทันที แทนที่จะจัดเวลาสำหรับการตอบอีเมลเอาไว้โดยเฉพาะ

สัญญาณที่เตือนว่าเรากำลังได้รับผลกระทบจาก Multitasking อยู่ ที่สังเกตุได้ง่าย ๆ ก็คือเรากลายเป็นคนที่รู้สึกเครียดและกังวลตลอดเวลา รู้สึกท้อ หมดแรงแม้ว่าจะเพิ่งเริ่มต้นวันใหม่ในตอนเช้านั่นเอง

เสียเวลา โดยไม่ได้สักงาน

การเข้าใจว่า Multitasking จะทำให้เราได้หลายงานในเวลาเดียวกัน เป็นการเข้าใจที่ผิดมาก จริง ๆ แล้วมันเป็นการเสียเวลาไปเปล่า ๆ เพราะจะไม่มีงานไหนที่เสร็จแบบสบบูรณ์เลยซักงาน ลองนึกภาพว่าเรากำลังทำงานสำคัญหรืองานใหญ่อยู่แล้วสลับไปทำงานเล็ก ๆ ก่อนจะกลับมาทำงานใหญ่ชิ้นนั้นต่ออีกรอบ สมองเราก็จะต้องเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งที่สลับงาน นั่นทำให้เราเสียเวลามากกว่าที่จะประหยัดเวลา

หรือเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัด ๆ มากขึ้นก็คือ การที่นักศึกษาที่นั่งอ่านหนังสือสอบอย่างเดียว ก็ต้องมีประสิทธิภาพมากกว่าคนที่อ่านหนังสือไปด้วย นั่งดูข่าวในโทรทัศน์ไปด้วยอยู่แล้ว เพราะสมองเราจะจดจ่ออยู่กับเรื่องเดียวอย่างเต็มที่

ไอเดียไม่แล่น

ความคิดสร้างสรรค์และแนวคิดด้านนวัตกรรม มักจะเกิดจากการที่เรามีสมาธิ สนใจ และจดจ่ออยู่กับเรื่องที่ต้องการหาไอเดีย Multitasking ก็เลยกลายเป็นศัตรูตัวฉกาจของความคิดสร้างสรรค์ เพราะถ้าสมองของเราคิดหลาย ๆ เรื่องในเวลาเดียวกัน ก็จะทำให้สมองไม่หลงเหลือพื้นที่สำหรับการคิดสร้างสรรค์ไอเดียใหม่

ยิ่งไปกว่านั้นความเครียดและกังวลที่เกิดขึ้น จะทำให้สมองใช้สัญชาตญาณสั่งการให้เราปลอดภัยจากอันตราย โดยบังคับให้สมองกลีบหน้าที่ทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์หยุดทำงานนั่นเอง

ความสามารถในการตัดสินใจแย่ลง

ในทุก ๆ งานที่เราทำ เราต้องมีการตัดสินใจอะไรบางอย่างทั้งนั้น แต่การทำงานแบบ Multitasking จะทำให้ประสิทธิภาพการตัดสินใจของเราแย่ลง โดยนักประสาทวิทยา Daniel Levitin อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า การตัดสินใจหลาย ๆ เรื่องพร้อมกัน ถึงจะเป็นเรื่องเล็กน้อย ก็ทำให้สมองสูญเสียระบบการควบคุมแรงกระตุ้นได้ และสามารถทำให้เกิดพฤติกรรมแบบหุนหันพลันแล่นรวมถึงการตัดสินใจแย่ ๆ ตามมาอีกด้วย

การทำงานแบบ Multitasking อาจจะทำให้เรารู้สึกว่าสามารถรับผิดชอบงานทุกชิ้นที่ได้รับมา แต่สุดท้ายแล้วเราจะทั้งเสียเวลา เสียพลังงาน และเสียสุขภาพจิต ไปกับการรับมือหลาย ๆ งานพร้อมกันแบบนั้น ทางที่ดีที่สุดที่เราจะปกป้องสมองและจิตใจของเราไปพร้อม ๆ กับการทำให้งานออกมามีคุณภาพได้ ก็คือการทำงานทีละอย่าง พยายามห่างจากโทรศัพท์มือถือและ Social Media ที่จะทำให้เราวอกแวก แล้วจดจ่ออยู่กับงานที่ทำ รวมทั้งพยายามพักทุก ๆ ชั่วโมงเพื่อชาร์จแบตไปพร้อมกันด้วย

credit : Jobthai