หลายคนสงสัยเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาว่า ถ้าตัวเองมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้อง เสีย ภาษี เรายังจะต้องยื่นภาษีต่อกรมสรรพากรไหม? บางคนมีเงินเดือนน้อย ๆ หรือเพิ่งเรียนจบมาทำงานใหม่ ๆ อาจไม่เคยยื่นภาษีเลย จึงจับต้นชนปลายไม่ถูก ว่าจะทำอย่างไรดี
กรมสรรพากรกำหนดให้คนที่มีเงินได้ แม้จะไม่ถึงเกณฑ์ เสีย ภาษี ก็ต้อง ‘ยื่นแบบแสดงรายได้’ เช่นกัน แต่ก็มีรายละเอียดกำหนดไว้อีกว่า ต้องมีรายได้เท่าไรถึงต้องยื่นแบบฯ ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กรณี ตามสถานภาพของแต่ละคน คือ โสด กับ สมรส
กรณีคนโสด
– หากได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง รวมทั้งเบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ตามมาตรา 40 (1) เป็นเงินได้เพียงประเภทเดียว เกิน 120,000 บาทต่อปี (เฉลี่ยเดือนละ 10,000 บาท) แบบนี้ต้องยื่นแบบภาษี แต่หากมีรายได้รวมกันไม่ถึง 120,000 บาทต่อปี กรณีนี้จะไม่ยื่นภาษีก็ไม่เป็นไร
– หากได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง ตามมาตรา 40 (1) และยังมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย เช่น เงินจากการขายของออนไลน์, เงินปันผลกองทุนรวม, การให้เช่าทรัพย์สิน ฯลฯ เกิน 60,000 บาท กรณีนี้ก็ต้องยื่นแบบภาษีเช่นกัน
– หากไม่มีค่าจ้างหรือเงินเดือน แต่มีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่น เช่น เงินจากการขายของออนไลน์, เงินปันผลกองทุนรวม, การให้เช่าทรัพย์สิน ฯลฯ เกิน 60,000 บาท นี่ก็ต้องยื่นแบบภาษีด้วย
กรณีสมรส
– หากได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง รวมทั้งเบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ตามมาตรา 40 (1) เป็นเงินได้เพียงประเภทเดียว เกิน 220,000 บาทต่อปี (เฉลี่ยเดือนละ 18,333 บาท) จะต้องยื่นแบบภาษี
– หากได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง ตามมาตรา 40 (1) และยังมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย เช่น เงินจากการขายของออนไลน์, เงินปันผลกองทุนรวม, การให้เช่าทรัพย์สิน ฯลฯ เกิน 120,000 บาท ก็ต้องยื่นภาษี แม้ว่ารายได้ไม่ถึงเกณฑ์ เสีย ภาษี ก็ตาม
– หากไม่มีค่าจ้างหรือเงินเดือน แต่มีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่น เช่น เงินจากการขายของออนไลน์, เงินปันผลกองทุนรวม, การให้เช่าทรัพย์สิน ฯลฯ เกิน 120,000 บาท กรณีนี้ก็ต้องยื่นแบบภาษีเช่นกัน
จะเห็นได้ว่าต่อให้เรามีเงินเดือนไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี หรือแม้จะมีรายได้ถึงเกณฑ์ เสีย ภาษี แต่มีค่าลดหย่อนหลายอย่าง จนทำให้เราไม่ต้องเสีย ภาษี ไม่ว่ายังไงก็ต้องยื่นแบบแสดงภาษีอยู่ดี ยกเว้นจะมีรายได้ไม่เกินเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนดไว้
ยื่นภาษี
ยื่นภาษีแบบไหน ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ?
อีกหนึ่งเรื่องที่คนเสีย ภาษี ยังสับสน ว่าเราต้องยื่น ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ง่ายๆ เลยก็คือ คนมีเงินเดือน โบนัส ค่าครองชีพ หรือรายได้ตามมาตรา 40 (1) ก็ให้เลือกยื่นแบบ ภ.ง.ด.91
ส่วนคนที่มีรายได้อื่น ๆ เช่น ขายของออนไลน์, เงินปันผลจากกองทุนรวม, เงินปันผลหุ้น ฯลฯ หรือมีทั้งเงินเดือนและรายได้อื่น ๆ ด้วย ก็ให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90
ทั้งนี้ สำหรับปีภาษี 2564 สามารถยื่นแบบฯ กระดาษได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 แต่หากยื่นภาษีออนไลน์จะขยายเวลายื่นแบบฯ ไปถึงวันที่ 8 เมษายน 2565
บวกลบคูณหารแล้วไม่ต้องเสียภาษี งั้นไม่ยื่นแบบฯแล้วกัน
ตามกฎหมาย การไม่ยื่นแบบแสดงรายได้จะมีความผิดตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
ดังนั้น แนะนำว่าให้ยื่นภาษีตามระบบจะดีกว่า และปัจจุบันการยื่นภาษีก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไร ยื่นผ่านทางอินเทอร์เน็ตหรือแอปพลิเคชัน ก็ทำได้ง่าย ๆ แค่ไม่กี่ขั้นตอนเท่านั้น
ขอบคุณเนื้อหาข่าวจาก : https://www.thebangkokinsight.com/
ดูหลักสูตรฝึกอบรมของ Impression Training ได้ที่ https://www.impressionconsult.com/i/training/
เพราะเรา “เปลี่ยนได้จริง”