เมื่อโลกเปลี่ยน…ผู้นำต้องเปลี่ยนโลก

เมื่อโลกเปลี่ยน…ผู้นำต้องเปลี่ยนโลก

Disrupt or Be Disrupted จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลง

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าในโลกธุรกิจยุคใหม่ดูเหมือนคุณจะมีทางเลือกอยู่แค่สองทาง ไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมไหนธุรกิจใด ขนาดใหญ่หรือเล็กสุดท้ายก็คงต้องยอมรับว่าความเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่กำลังคืบคลานมาถึงในสักวัน ขึ้นอยู่กับว่าจะช้าหรือเร็วแค่ไหนเท่านั้นเอง

ตลอดช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา เราเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเกิดขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม และเทคโนโลยี  สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลกและส่งผลกระทบระหว่างกัน ภาพที่เห็นคือมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในด้านเทคโนโลยี  การปรับเปลี่ยนจากโลก analogue สู่โลก digital การเกิดขึ้นและก้าวเข้ามาเป็นผู้นำโลกของบริษัทที่เน้นการพัฒนาเรื่อง IT

นอกจากนั้นเรายังได้เห็นภาพภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของประเทศสหรัฐอเมริกา  ภาพผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศกรีซ มีการเกิดขึ้นใหม่ของกลุ่มยูโรโซน การใช้เงินสกุลยูโร การก้าวเข้าสู่ AEC การที่เราได้เห็นการเติบโตและศักยภาพของอุตสาหกรรมชั้นนำในประเทศจีนและอินเดีย เราได้ยินข่าวการเปิดและปิดโรงงานของบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลกเพื่อหาแหล่งทรัพยากรที่ถูกกว่า เช่นนี้เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา พลวัตของมันรวดเร็วและรุนแรงจนทำให้หลายๆ คนตั้งรับไม่ทัน โอกาสและภัยคุกคามเกิดขึ้นตลอดเวลากับบริษัทต่างๆ ทั้งที่เป็นผู้เล่นในตลาดระดับประเทศ  ตลาดในภูมิภาค หรือผู้เล่นในตลาดโลก ส่งผลให้แต่ละองค์กรต้องเร่งหาทางปรับตัวเพื่อความอยู่รอด และเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบและโอกาสด้านการตลาด อีกทั้งเพื่อหลีกหนีความล้มเหลวจากสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น

Leader

รูปภาพจาก Fortune.com

เมื่อดูบริษัทที่ติดอันดับในนิตยสาร Fortune 500 จะเห็นได้ว่ามีหลายบริษัทที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันและมีการเข้ามาใหม่ของบริษัทคู่แข่ง ดังเช่น ด้านธุรกิจผู้ผลิตรถยนต์  ในอดีต General Motors และ Fords เคยเป็นสองบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก  แต่ปัจจุบันก็มีชื่อของบริษัท Tata ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอินเดียเบียดเข้ามาติดอันดับ และล่าสุดก็ยังมีบริษัทใหม่จากประเทศจีนที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วอย่าง บริษัท บีวายดี ออโต้ (BYD Auto) ผู้เชี่ยวชาญในการผลิตแบตเตอรีชาร์จซ้ำ ซึ่งวันนี้มุ่งเน้นผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ไฮบริด โดยการพลิกโฉมมาใช้พลังงานสะอาดแทนการใช้น้ำมัน

นอกจากนั้นธุรกิจที่เคยเติบโตอย่างมากในช่วงยุคแรกเริ่มอินเทอร์เน็ต เช่น  บริษัท Yahoo ซึ่งเคยเป็นบริษัทที่ทำกำไรและเติบโตสูงสุดในช่วงเริ่มแรก แต่เมื่อ Google เข้ามาทำธุรกิจและนำเสนอโมเดลธุรกิจที่ตรงข้ามโดยเสนอทุกอย่างเป็นfree service ก็ทำให้ Google เข้ามาเป็นบริษัทชั้นนำแทน Yahoo ได้ในที่สุด

หรือแม้กระทั่งบริษัทชื่อดังที่คร่ำหวอดในอุตสาหกรรม IT อย่าง  IBM และ Apple ก็ยังต้องปรับตัวเองอย่างมากในการฝ่าด่านการเปลี่ยนแปลงในช่วงกว่าสิบปี  หลังจากต้องผ่านช่วงสูญเสียรายได้มหาศาล กว่าจะสามารถหากลยุทธ์ที่ใช่และสามารถกลับเข้ามาผงาดอีกครั้งในปัจจุบัน

\ DID YOU KNOW \

ปิดฉากเรียบร้อยแล้ว Search Engine และผู้ให้บริการอีเมลในตำนานอย่าง Yahoo! ที่หลังสิ้นสุดการซื้อขายจาก Verizon ซีอีโอสาว Marissa Mayer ก็ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ส่วน Yahoo! ก็เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Altaba บริษัทจัดการกองทุนแทน

ดังนั้น หากเราถอดบทเรียนจากตัวอย่างบริษัทข้างต้น จะเห็นว่าทุกบริษัทมีโอกาสเติบโตและถดถอยได้อย่างรวดเร็วในสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งเป็นเรื่องที่การเปลี่ยนแปลง ความไม่แน่นอนไม่เข้าใครออกใคร และมันสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว รุนแรงตลอดเวลา  แต่องค์ประกอบสำคัญสำหรับบริษัทที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นคือความสามารถในการนำองค์กรของผู้นำในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและคลุมเครือ 

ทำไมคุณสมบัติเรื่องการนำองค์กรในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและคลุมเครือมีความสำคัญ?

คำตอบง่ายๆ คือ ในยุคที่พลวัตแห่งความแปรปรวนเกิดขึ้นเร็วมากในโลกปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกับความผันผวนของตลาด อย่างเช่นสถานการณ์ราคาทองคำตกต่ำอย่างต่อเนื่อง หรือการแข่งขันกับปัจจัยเชิงลบต่างๆ ที่เกิดขึ้นแบบไม่ได้คาดการณ์ล่วงหน้า การเรียนรู้จากตำราธุรกิจแบบเดิม หรือเดินตามความสำเร็จจากในอดีต มีแต่กลายเป็นสูตรสำเร็จของความล้มเหลว ผู้นำที่จะนำพาองค์กรและนำพาประเทศให้สามารถแข่งขันบนเวทีระดับชาติได้นั้นต้องพร้อมด้วยศักยภาพที่จะตอบสนองกับสถานการณ์แบบยืดหยุ่น เตรียมพร้อมปรับเปลี่ยนความคิดและหาทางออกสำหรับอนาคตให้ทันกับความผันผวนที่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน

ศักยภาพที่จะตอบสนองกับสถานการณ์แบบยืดหยุ่น (agility) หรือทำอะไรแบบไม่ได้เตรียมมาก่อน (improvisation) ในทางปฏิบัติยังช่วยให้ผู้นำสามารถเชื่อมกับพนักงานได้เป็นอย่างดีอีกด้วย เพราะมันเป็นเรื่องของความ ‘ไม่เป็นทางการ’ มีเรื่อง ‘human touch’ เข้ามาเกี่ยวข้องและช่วยสร้างให้เกิดความเชื่อมั่น ช่วยพัฒนาการสื่อสารระหว่างกันนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ หรือความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี

โดยปกติ หากเราพูดถึงศักยภาพผู้นำในการตอบสนองกับสถานการณ์แบบยืดหยุ่นนั้นเรามักจะกล่าวถึงความสามารถในการเรียนรู้จากอดีต แต่มองไปไกลในอนาคต เปิดใจรับความไม่แน่นอน รวมถึงการพร้อมรุก (proactive) และพร้อมลุก(flexibility)

Andrew Grove อดีตซีอีโอของ Intel เคยพูดว่า
“Only the Paranoid Survive”
หรือแปลว่าคนที่มีความระแวง ระวัง ไม่หลงตัวเอง

ไม่รู้สึกพอเพียงเท่านั้น ถึงจะอยู่รอดได้

สถานการณ์ในปัจจุบันที่เกิดขึ้นนั้นยังพบว่าองค์กรหลากหลายแห่งมีผู้นำแต่ประเภทที่ขาดความพร้อมในการประเมินสถานการณ์ ความเสี่ยงและวิเคราะห์ถึงผลที่จะตามมา จึงไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังหรือขาดความพร้อมในการรับมือความเปลี่ยนแปลง

ดังนั้นผู้นำสำหรับวันนี้จึงต้องสามารถประเมินและหาทางรอดให้ทันท่วงที ต้องนำโลกให้ได้ก่อนที่โลกจะนำเราและเปลี่ยนแปลง เพราะหาไม่แล้วความล้มเหลวอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัวโดยจะเห็นตัวอย่างได้จากหลายองค์กรยักษ์ใหญ่ที่ต้องประสบภาวะวิกฤตจากความเปลี่ยนแปลง อาทิเช่น  KODAK ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้นำด้านกล้องถ่ายรูป เลนส์และฟิล์มแต่ไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับกระแสความเปลี่ยนแปลงทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจบนโลกดิจิตัลได้ สุดท้ายยักษ์ใหญ่ของธุรกิจถ่ายภาพต้องล้มลงเมื่อปีที่แล้ว ปิดตำนาน 136 ปีของ KODAK

สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะ 70% ของเวลาทั้งหมด
ผู้นำและผู้บริหารมักหมดไปกับสิ่งที่เรียกว่าผลงานในอดีต
เช่น ตัวเลขยอดขาย รายงานต่างๆ โดยเป็นสัดส่วนที่
มากกว่าการที่จะจดจ่อกับกลยุทธ์ของบริษัท
ซึ่งเป็นเรื่องของแนวทางในอนาคต
 และถ้ายังเป็นเช่นนี้อยู่
คุณคิดว่าจะมีกี่องค์กรที่พยายามหาวิธีรับมือ
กับกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้

เมื่อปี 2556 มีการประกาศการถูก takeover ของบริษัทที่เคยเป็นบริษัทที่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง เป็นที่เชิดหน้าชูตาของชาวฟินแลนด์ คือ บริษัท Nokia ในการประกาศนั้น หลังจาก Ziyad Jawabra CEO ของบริษัทในตอนนั้นอธิบายว่าเราจะไปเป็นบริษัทลูกของบริษัทอเมริกันแล้ว คำสุดท้ายที่เขาพูดคือ “we didn’t do anything wrong, but somehow, we lost” เขาพูดแค่นั้นแล้วก็ร้องไห้ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ในบางครั้ง คุณไม่ต้องทำผิดหรอก แต่คุณไม่ทำสิ่งที่ควรทำ หายนะก็มาเยือน แค่คุณไม่พัฒนา ไม่ปรับปรุง แต่คู่แข่งดีกว่าคุณ แค่คุณไม่เรียนรู้ที่จะรับมือกับเรื่องพวกนี้ คุณก็อาจจะแพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่ม

อ่านมาถึงตรงนี้ สิ่งที่อยากเน้นย้ำในเรื่องทางออกในการพัฒนาศักยภาพผู้นำให้มีความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงคือนอกจากการที่ผู้นำจะต้องมีวิสัยทัศน์ที่เหนือกว่าในการบริหารงานบนความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงแล้วเขาหรือเธอยังต้องมีความแข็งแกร่งพอที่จะรีบลุกขึ้นยืนจากความล้มเหลว และนำพาองค์กรก้าวเดินต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ต้องมีความสามารถที่จะสื่อสารกับคนในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดความรับรู้ร่วมกันถึงความสำคัญในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงจากภายนอก อีกทั้งต้องสื่อสารเพื่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจของคนภายในองค์กรเพื่อช่วยกันรับมือกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น

และที่สุดแล้ว ผู้นำองค์กรจะต้องมีศักยภาพเพียงพอที่จะสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นองค์กรที่พร้อมดำเนินงานบนความเปลี่ยนแปลง มีความยืดหยุ่นเพื่อปรับตัวไปกับความไม่แน่นอน  และต้องทำให้กระบวนการประเมินความเสี่ยงและวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานปกติประจำวัน

ประเด็นคือ ในบางเวลาคุณต้องยอมรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการแก้ปัญหา เพราะจะไม่ให้เสียหายเลยก็คงเป็นไปได้ยาก แต่จะทำอย่างไรให้เสียหายน้อยที่สุด อีกทั้งในบางกรณีนั้นทางเลือกบางทางเลือก ความเสี่ยงอาจจะมาก แต่ถ้าเดินไปแล้วได้ผลอาจจะไม่มีความเสียหายเลย บางทางเลือกความเสี่ยงน้อยกว่า แต่เดินไปแล้วก็ยังมีความเสียหายอยู่ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบที่ผู้นำต้องนำมาวิเคราะห์พิจารณาทั้งสิ้น

ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง คำว่าผู้นำไม่มีสูตรตายตัวอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องขององค์ประกอบหลายๆ ด้านที่ต้องได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ที่ก้าวหน้า บทเรียนจากความล้มเหลวของหลายๆ ประเทศหลายองค์กรธุรกิจ ทำให้การพัฒนาศักยภาพผู้นำเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องตระหนักว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รอไม่ได้ เพราะเริ่มพรุ่งนี้ก็อาจสายเกินไป

CREDIT : theviable.co