5 วิธีกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ในโลกที่การทำงานถูก Disrupt โดยนวัตกรรมต่าง ๆ  คนรุ่นใหม่ที่มีจุดเด่นในความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีกำลังก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในแทบทุกองค์กร ทำให้คนที่เป็นหัวหน้าและคนที่ทำงานในด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลต่างก็พยายามมองหาวิธีการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คิดวิธีส่งเสริมความรู้และการทำงาน เพื่อให้คนกลุ่มนี้ก้าวขึ้นมาเป็นรากฐานที่มั่นคงขององค์กร

เรียนรู้จากความผิดพลาด

พนักงานรุ่นใหม่มักไม่ถูกกระตุ้นให้กล้าคิด กล้าตัดสินใจเรื่องสำคัญมากนัก เพราะการเลือกทำอะไรตามผู้ใหญ่ในองค์กรมักจะปลอดภัยมากกว่า เราควรเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองบ้าง เพราะพวกเขาจะเรียนรู้จากความผิดพลาดและประสบการณ์จริงที่ได้เจอ ซึ่งมันจะส่งผลต่อการทำงานในระยะยาว

ถ้าพวกเขาอยากลองทำอะไรใหม่แต่ยังไม่มีประสบการณ์มากพอ สิ่งที่เราควรทำก็คือการยื่นมือเข้าไปช่วย ให้คำแนะนำว่าผิดพลาดตรงไหน และวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาเพื่อให้พัฒนาได้อย่างตรงจุด

ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง

การพูดหรือแนะนำลูกทีมอย่างเดียวโดยไม่เคยทำให้เห็นได้จริง จะทำให้ลูกทีมคนอื่นมองว่าเราเป็นคนที่ดีแต่พูด ซึ่งจะทำให้เกิดระยะห่างระหว่างเรากับคนในทีม 

ถึงความผิดพลาดจะเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในการทำงาน แต่ถ้าบอกให้คนอื่นทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วเราทำผิดเสียเอง ก็จะทำให้คนในทีมเสื่อมความศรัทธาในตัวเราด้วย อย่าลืมว่าความเชื่อถือจะขึ้นอยู่กับความสอดคล้องของการกระทำและคำพูดของเราเอง

ให้ความช่วยเหลือเพื่อยกระดับผลงาน

คนทำงานมักจะมีปัญหาอุปสรรคต่างกันไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์การทำงานเก่าเกินไป เดินทางมาทำงานลำบาก หรือบ้านอยู่ไกล ทำให้พนักงานส่วนใหญ่มีผลงานอยู่แค่ในระดับปานกลาง ไม่ได้โดดเด่นออกมาจนน่าชื่นชม ถ้าเรามองเห็นว่าปัญหาที่คนในทีมกำลังเจอคืออะไรแล้วคิดว่าช่วยแก้ปัญหานั้นได้ ก็จะช่วยให้พวกเขามีสมาธิกับการทำงานอย่างเต็มที่มากขึ้น

หัวใจสำคัญก็คือ ต้องหาให้เจอว่าพนักงานของเราต้องการความช่วยเหลือในเรื่องไหน ถ้าตอบโจทย์นั้นได้ก็จะทำให้พวกเขาไม่ต้องกังวลและทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างตรงไปตรงมา

ช่วงแรกพนักงานใหม่อาจยังไม่รู้ว่าต้องแสดงความคิดเห็นอย่างไร หน้าที่ของคนเป็นหัวหน้าก็คือการพยายามสอบถามความต้องการและความคิดเห็นเป็นระยะ เพื่อจะได้นำมาปรับปรุงการทำงานโดยรวมของทีมให้ดีขึ้น และถ้าเราอยากให้พนักงานรุ่นใหม่ฟังคำชี้แนะ เราก็ต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของพวกเขาเช่นกัน 

ทีมที่เปิดใจและมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างตรงไปตรงมาเช่นนี้ เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมักจะแก้ไขได้อย่างทันท่วงทีและเร็วกว่าทีมอื่น ๆ ที่ไม่ได้คุยกัน เพราะมีความเกรงใจ หรือกลัวความอาวุโสกว่าของคนในทีมนั่นเอง

มองเห็นคุณค่าในตัวพนักงาน

บางครั้งการกระตุ้นด้วยปัจจัยภายนอกอย่าง เพิ่มเงินเดือน เลื่อนตำแหน่ง หรือสวัสดิการอื่น ๆ ก็ไม่ทำให้พนักงานของเราทำงานดีขึ้นเสมอไป เราต้องแสดงให้เห็นว่าการตอบแทนของเรานั้นมีค่ากว่าเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เพราะบางครั้งแค่การเอ่ยปากชมพนักงานอย่างจริงใจ ในกรณีที่ต้องมาทำงานวันหยุดหรือทำงานที่เกินขอบเขตหน้าที่ แค่นี้ก็ทำให้พวกเขารับรู้ได้แล้วว่าตัวเองมีความสำคัญและมีคุณค่าต่อองค์กร

การใช้ระบบการสอนงาน (Coaching) ที่ให้มุมมองและแนวทางมากกว่าบอกวิธีการแก้ปัญหา จะช่วยให้พนักงานรุ่นใหม่รู้จักคิดและแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง ทำให้ผู้บริหารหรือหัวหน้าอย่างเราจะมีเวลาใส่ใจกับงานในระดับสูงมากขึ้น การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความสำเร็จเช่นนี้ จะช่วยสร้างแรงจูงใจในการทำงานและพัฒนาประสิทธิภาพของคนไปพร้อม ๆ กัน