6 ขั้นตอนง่าย ๆ ในการประเมินตัวเองปลายปี เพื่อความสำเร็จในปีหน้า

หลายคนอาจกำลังแพลนปาร์ตี้ชุดใหญ่ในปลายปี แต่จะมีสักกี่คนที่ใช้ช่วงเวลาก่อนปีใหม่นี้คิดทบทวนสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านมาในรอบปี เพื่อวางแผนและตั้งเป้าหมายสำหรับปีหน้า โดยเฉพาะเรื่องงาน ซึ่งการที่จะตั้งเป้าหมายที่ดีได้นั้นคุณต้องรู้จักตนเองให้ดีที่สุดเสียก่อน การประเมินตนเองจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราได้รู้ถึงศักยภาพที่แท้จริง โดยเฉพาะการประเมินช่วงปลายปีซึ่งเป็นเวลาที่จะได้ทบทวนผลงานตลอดปีที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร และผลลัพธ์ที่ได้จะกลายเป็นสิ่งสำคัญในการตั้งเป้าหมายของปีใหม่นี้ และนี่คือ 6 ขั้นตอน ที่นำมาช่วยให้คุณประเมินตนเองได้อย่างมีระบบและนำไปตั้งเป้าหมายได้ตรงกับตัวคุณที่สุด

1. บันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา

ใช้เวลาในการคิดและมองย้อนกลับไปในปีที่ผ่านมาว่ามีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นบ้าง จดลงกระดาษ ทั้งเรื่องที่ประสบความสำเร็จ ได้รับคำชม หรือ ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจนรู้สึกผิดหวังในตนเอง เหตุการณ์เหล่านี้อาจจะอยู่ในสมุดบันทึกส่วนตัว หรือ Social Media ก็ได้ซึ่งจะช่วยทำให้เราเห็นภาพต่าง ๆ ในแต่ละช่วงเวลาที่สำคัญได้ชัดเจนมากขึ้นไปอีก

 

2. ประเมินตัวเองอย่างเป็นกลาง

นำบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาประเมินผลโดยต้องพยายามซื่อสัตย์และเป็นกลางกับตัวเองให้มากที่สุด การประเมินแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ ประเมินให้ความเห็นกับตนเอง เช่น ควรแสดงความเห็นในห้องประชุมมากขึ้น ต้องออกไปพบลูกค้าให้บ่อยกว่าเดิม หรือ ควรแก้ปัญหาให้เร็วขึ้น และประเมินทักษะโดยให้คะแนนเป็นตัวเลข เขียนทักษะ เป็นข้อ ๆ เช่น การสื่อสาร การขาย หรือ การแก้ปัญหา และให้คะแนน โดยที่ เลข 1 หมายถึง “ต้องพัฒนาอย่างจริงจัง” และ เลข 5 หมายถึง “ทำได้ดีมาก”

 

3. ผลประเมินตรงกับผลงานหรือไม่

เอาผลการประเมินมาเปรียบเทียบกับผลงานที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา เช่น จำนวนรายรับที่เพิ่มขึ้น จำนวนต้นทุนที่ลดลง หรือจำนวนลูกค้าที่มากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะแสดงให้เห็นว่าคะแนนที่เราประเมินตนเองนั้นตรงกับผลลัพธ์จริงที่เกิดขึ้นหรือไม่ รวมถึงยังทำให้เราได้เห็นตัวเลขค่าสถิติที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งแสดงให้เราได้รู้ว่าเรามีประสิทธิภาพในการทำงานมากน้อยแค่ไหน

 

4. ผลงานตรงเป้าหมายที่ตั้งไว้ไหม

นำเป้าหมายที่ตั้งไว้เมื่อต้นปีมาเปรียบเทียบกับผลงานที่เกิดขึ้นตลอดปีว่ามีเป้าหมายไหนที่เราสามารถทำสำเร็จ และเป้าหมายใดที่ล้มเหลว ซึ่งในเป้าหมายที่ล้มเหลวนั้น เราต้องย้อนกลับไปดูด้วยว่าทำไมถึงล้มเหลว เพราะบางครั้งเป้าหมายบางอย่างก็ไม่อาจทำให้สำเร็จได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ได้ส่งผลกระทบจนทำให้ต้องตัดสินใจละทิ้งเป้าหมายนั้นไป

 

5. สอบถามคนใกล้ตัว

บางครั้งคุณอาจจะประเมินแบบหลงตัวเอง หรือบางทีอาจประเมินตัวเองต่ำเกินไป เพราะฉะนั้นอาจจะต้องลองพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานเกี่ยวกับผลการทำงานของคุณ ว่าพวกเขามีแนวคิดและคำแนะนำอย่างไร พยายามฟังทุกคำแนะนำและนำมาประเมินอีกครั้งว่าตรงกับผลการประเมินส่วนตัวของคุณหรือไม่

 

6. วางแผนและตั้งเป้าหมายในปีหน้า

ตั้งเป้าหมายของปีใหม่ที่จะมาถึง โดยเริ่มจากการตั้งคำถามกับตนเองว่าเราจะปรับปรุงจุดด้อยอย่างไร มีวิธีไหนที่จะช่วยพัฒนาจุดแข็งได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนได้แล้ว เวลาที่เราขยับเข้าใกล้เป้าหมายได้ให้จดบันทึกไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ เมื่อถึงสิ้นปีจะได้นำมาประเมินได้อย่างชัดเจนว่าสิ่งไหนคือตัวแปรที่ทำให้เราประสบผลสำเร็จ หรือสิ่งไหนที่ทำให้เราไม่สามารถทำตามเป้าหมายของเราได้

Credit : jobthai