6 เหตุผลที่ควรเลิกทำงานแบบ Multitasking
สังคมการทำงานยุคปัจจุบันรวดเร็วขึ้นเพราะเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปไกลกว่ายุคที่ผ่านมา คนทำงานรุ่นใหม่หลายคนจึงเข้าใจว่าการ Multitasking หรือทำงานหลาย ๆ อย่างพร้อมกันเป็นเรื่องที่ดีเพราะแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการทำงานและการจัดระเบียบชีวิตส่วนตัว แต่ในความเป็นจริงสมองของมนุษย์ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับการทำหลายงานในเวลาเดียวกัน นอกจากจะไม่ทำให้งานคืบหน้าแล้วยังมีโอกาสที่จะส่งผลเสียต่อสมองของเราอีกด้วย JobThai.com/REACH ขอนำเสนอ 6 เหตุผลที่เราควรเลิกทำงานแบบ Multitasking มาให้คนทำงานได้ลองทบทวนดูว่าเราควรลดจำนวนงานที่ทำพร้อม ๆ กันแล้วหรือยัง
|
สมองมีโอกาสได้รับผลกระทบ
ส่วนหนึ่งจากงานวิจัยของ University of Sussex (UK) ได้ใช้ MRI สแกนสมองของผู้เข้าทดสอบที่ทำงานแบบ Multitaskingแล้วพบว่า เกิดจุดขึ้นบริเวณสมองส่วน Anterior Cingulate Cortex (ส่วนหน้าของเปลือกสมอง Cingulate cortex มีลักษณะคล้ายคอเสื้อ) ที่ควบคุมระบบประสาทอิสระ ความดันโลหิต อัตราการเต้นของหัวใจ และที่สำคัญคือการควบคุมอารมณ์ การตัดสินใจ และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
จากผลวิจัยดังกล่าวสรุปไว้ว่า คนที่ชอบทำงานหลายอย่างพร้อมกันจะมีความหนาแน่นของสมองส่วนที่ตอบสนองต่อความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและการควบคุมอารมณ์ลดลง ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ที่อาจเกิดการผิดพลาดมากขึ้นในชีวิต
ความผิดพลาดเพิ่มขึ้นตามงานที่ทำ
นอกจาก Multitasking จะลดคุณภาพงานของเราลงไปแล้วยังเพิ่มโอกาสที่งานจะผิดพลาดมากขึ้นอีกด้วย เพราะว่าการที่รับข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งพร้อมกันจะทำให้สมองไม่สามารถจดจ่ออยู่กับงานอะไรได้อย่างจริงจังเลยสักงาน
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Stanford ระบุว่า คนที่ชอบทำหลาย ๆ งานพร้อมกันจะเกิดปัญหาที่ไม่สามารถแยกแยะข้อมูลซึ่งไม่เกี่ยวข้องออกจากกันได้ นั่นหมายความว่าจะเกิดปัญหาขึ้นทั้งเรื่องของจิตใจและข้อมูลที่ปะปนกันของงานแต่ละงานมากขึ้น ซึ่งหากทำงานหนึ่งพลาดไปจะมีผลให้อีกงานได้รับผลกระทบด้วยนั่นเอง
ทั้งเครียดและกังวล
ส่วนหนึ่งคือผลจากความผิดพลาดในแต่ละงาน และเหตุผลที่สำคัญคือการ Multitasking จะทำให้สมองผลิต Cortisol หรือฮอร์โมนแห่งความเครียดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเกิดได้จากเรื่องง่าย ๆ อย่างการทำงานอยู่แล้วสลับไปตอบอีเมลทันที หนทางแก้ไขคือควรจัดเวลาสำหรับการตอบอีเมลไว้โดยเฉพาะ
ลองสังเกตตัวเองง่าย ๆ ว่า ถ้าหากเราเป็นคนที่รู้สึกเครียดและกังวลตลอดเวลา รู้สึกท้อ หมดแรงแม้ว่าจะเพิ่งเริ่มต้นวันใหม่ในตอนเช้า นั่นอาจเป็นหนึ่งสัญญาณเตือนแล้วว่าเรากำลังได้รับผลกระทบจาก Multitasking
เสียเวลาเปล่า
หลายคนเข้าใจว่าการ Multitasking จะช่วยให้ได้หลายงานในเวลาเดียวกัน แต่ที่จริงแล้วมันเป็นการเสียเวลาเปล่าเพราะว่าเราจะไม่ได้ทำงานไหนจนเสร็จเลยสักงาน ในขณะที่เรากำลังทำสิ่งสำคัญหรืองานใหญ่อยู่แล้วสลับไปทำงานเล็ก ๆ นั่นทำให้เราเสียเวลามากกว่าที่จะประหยัดเวลาเพราะสมองจะเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งที่สลับกิจกรรม
นักศึกษาที่นั่งอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียว ย่อมได้ประสิทธิภาพมากกว่าการอ่านหนังสือสอบของนักศึกษาและนั่งดูข่าวในโทรทัศน์ไปด้วย เพราะสมองเราได้จดจ่อกับงานเพียงงานเดียวอย่างเต็มที่นั่นเอง
ความคิดสร้างสรรค์ไม่ทำงาน
ความคิดสร้างสรรค์และแนวคิดด้านนวัตกรรม มักมาจากความคิดที่จดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น ๆ เป็นเวลานาน ฉะนั้นการ Multitasking จึงเป็นศัตรูตัวสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ เพราะถ้าสมองของเรากำลังคิดเรื่องราวต่าง ๆ พร้อมกันในเวลาเดียวนั่นจะทำให้สมองไม่หลงเหลือพื้นที่สำหรับการคิดสร้างสรรค์ไอเดียใหม่
นอกจากนี้ผลจากความเครียดและความกังวลจะทำให้สมองใช้สัญชาตญาณสั่งการให้เราปลอดภัยจากอันตราย ซึ่งบังคับให้สมองกลีบหน้าที่ทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์หยุดทำงาน
ตัดสินใจพลาด
การทำหลาย ๆ งานพร้อมกันเป็นการลดประสิทธิภาพการตัดสินใจสำหรับเรื่องสำคัญ เหตุผลหนึ่งก็คือในทุกงานที่เราทำต้องมีการตัดสินใจบางอย่างเสมอ ซึ่งนักประสาทวิทยา Daniel Levitin ขยายความเรื่องนี้ไว้ว่าการตัดสินใจหลาย ๆ เรื่องพร้อมกัน แม้ว่าเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย จะทำให้สมองสูญเสียระบบการควบคุมแรงกระตุ้น ซึ่งสามารถก่อให้เกิดพฤติกรรมแบบหุนหันพลันแล่นรวมถึงการตัดสินใจแย่ ๆ ตามมาอีกด้วย
แม้ว่าการทำ Multitasking อาจทำให้รู้สึกดี แต่สุดท้ายแล้วเราทั้งเสียเวลา เสียพลังงาน และสุขภาพจิตไปกับการรับมือหลาย ๆ งานพร้อมกัน หนทางที่ดีที่สุดที่จะช่วยปกป้องสมองและจิตใจของเราคือการฝึกทำงานทีละอย่าง พยายามห่างจากโทรศัพท์มือถือและโซเชียลเน็ตเวิร์ก จดจ่ออยู่กับงานที่ทำและพยายามพักทุก ๆ ชั่วโมงเพื่อชาร์จพลังงานและพลังสมองไปพร้อมกัน