บทความนี้เป็นบทความแรกที่ผมเขียนขึ้นผ่านมุมมองและประสบการณ์จากการทำงานหนักของตัวเอง นับตั้งแต่วันแรกของการทำงานจนถึงวันนี้ มี 9 เรื่องนี้ที่ผมเน้นย้ำกับตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าสิ่งเหล่านี้ คือ “สิ่้งที่ผมได้รับจากการทำงานหนัก” ปกติแล้วสไตล์การเขียนบล็อกใน Aommoney.com ของผมจะเป็นแนวกากๆเกรียนๆเจือปนด้วยอารมณ์และมุมมองมาโดยตลอด แต่บทความนี้ถูกเขียนขึ้นด้วยถ้อยคำที่สุภาพและความรู้สึกที่อยากจะเผยแพร่จากใจจริง ผมเชื่อว่า หลายท่านอาจจะไม่คุ้นชินกับสำนวนในบทความตอนนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับบทความอื่นๆที่ผ่านมา แต่สำหรับคนที่มาใหม่ ถ้าหากคุณกำลังจะกด Like เพจ Mr.GraymanV2 ผมขอแนะนำให้คุณทำใจไว้ล่วงหน้าและตรวจสอบความพร้อมของจิตใจสักนิด เพราะคุณจะต้องเจอกับคำผรุสวาท คำหยาบด้วยอารมณ์ แต่เจือปนด้วยข้อคิดที่ตัวผมอยากจะสื่อ ถ้าคุณรับได้ คุณอาจจะรักตัวอักษรของผม แต่เช่นเดียวกัน ถ้าคุณรับไม่ได้ มันก็เป็นแค่คำหยาบคายธรรมดาที่ก่นด่าออกไป
ผมหวังไว้ว่าบทความนี้จะมีประโยชน์สำหรับคนที่ได้ผ่านมาอ่านทุกๆคน โดยเฉพาะคนที่ “คิดว่า” ตัวเองทำงานหนัก และคนที่อาจจะเจอกับการ “ทำงานหนัก” ในอนาคต
ป.ล. สิ่งที่ผมเขียนนี้ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงสไตล์ตัวเอง แต่ผมเพียงต้องการแสดงสิ่งที่ถ่ายทอดออกมาให้คุณเห็นในแง่บวกของผู้ชายสีเทาๆคนหนึ่งเพียงเท่านั้น ขอน้อมรับคำติและคำชมไว้ด้วยสิ่งที่นักเขียนกากๆคนหนึ่งพึงจะได้รับไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
9 ข้อคิดชีวิตที่ผมได้เรียนรู้ผ่านการทำงานหนัก
ผมเชื่อว่า ทุกคนต้องเคยได้ยินคำว่า “งานหนักไม่เคยฆ่าคน” แต่บางคนได้ยินแล้วคงจะรู้สึกว่า “นี่กรุกำลังจะตายเพราะงานแล้วไงสัส” แต่ไม่ว่างานในวันนี้จะหนักแค่ไหน คุณต้องไม่ลืมมองเข้าไปให้ถึง “อนาคต” ข้างหน้าด้วย เพราะถ้าหากคุณไม่ตายจากการทำงานหนักในวันนี้ ผมกล้าบอกเลยว่าสิ่งที่คุณจะได้รับในอนาคตนั้นมันช่างมีค่าเหลือคณานับ และทั้งหมดคือ 9 ข้อคิดที่ผมได้รับจากการทำงานหนัก ในสไตล์เกรย์แมน
1. หยุดคาดหวัง “ความยุติธรรม” จากการทำงานหนัก
ก่อนอื่นผมขอบอกเลยว่า ในการทำงานทุกประเภท จงเลิกคาดหวังที่จะพบคำว่า “ความยุติธรรม” จากสังคมการทำงานเป็นลำดับแรก และถ้าหากคุณมองว่าตัวเองเป็น “คนทำงานหนัก” คุณจงถามตัวเองต่อไปว่า “แล้วผลของงานที่ได้รับจากการทำงาน” นั้นเกิดจากการทุ่มเทแรงใจแรงกายอย่างเต็มที่ หรือ เป็นแค่ข้ออ้างของการขาดประสิทธิภาพในการทำงาน เลยทำให้คุณต้อง “ทำงานหนัก” เพราะ “ใช้เวลา” มากกว่าคนอื่นๆ บางครั้ง คุณอาจจะมองเห็นคนหลายคนในที่ทำงาน หรือคนที่ทำงานประเภทเดียวกันกับคุณ ดูสบายๆ ใช้เวลาหรือความทุ่มเทในการทำงานน้อยกว่าแต่ทำไมพวกเขาเหล่านั้นถึงประสบความสำเร็จในการทำงานมากกว่า หรือไม่ก็ได้รับการยอมรับจากสังคมมากกว่าคุณ นั่นแหละครับ!! มันคือสิ่งที่สะท้อนกลับมาถามคุณว่า “ทำไมเราถึงไม่สามารถทำได้อย่างเขา” หรืออย่างน้อยลองถามตัวเองก่อนละกันว่า “เรามีข้อเสียอะไรบ้าง” ที่ทำให้ต้องทำงานหนักอย่างขาดประสิทธิภาพแบบนี้ ถ้าหากมันเป็นความผิดพลาดของคุณเอง จงอย่าร้องเรียกหา “ความยุติธรรม” ที่เกิดขึ้น เพราะการเรียกหาความยุดติธรรมจากความผิดพลาด มันก็เหมือนกับเด็กอนุบาลที่ทำของเล่นพังแล้วร้องไห้ให้พ่อแม่ซื้อใหม่ เพราะยังไม่เข้าใจว่าตัวเองทำอะไรผิด
สิ่งเหล่านี้มันคือการแสดงให้เห็นว่า ตัวคุณนั้นยอมรับความผิดพลาด และความลำบากในชีวิตอย่างไรต่างหาก
ยิ่งร้องแรกแหกกระเชิงหาความเห็นใจ ตอนที่ตัวเองทำผิดพลาด คุณจะเป็นได้แค่ตัวประหลาดในออฟฟิศเท่านั้น
เมื่อเกิด “ความผิดพลาด” อย่ามัวเสียเวลาหาคำตอบที่เข้าข้างตัวเอง เพราะยิ่งคุณหาคำตอบเพื่อให้ตัวเอง “สบายใจ” มากขึ้นเท่าไร ความห่างไกลที่เกิดขึ้นระหว่างคุณกับความสำเร็จมันจะยิ่งไกลออกไปทุกทีๆ
เพราะชีวิตจริงไม่มีคำว่า “ยุติธรรม” มีแต่คุณต้องรีบ “ทำ” เพื่อให้ปัญหามัน “ยุติ”
แต่ถ้าหากคุณเป็นคนทำงานหนักที่เปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพ แต่กลับโดนมองข้ามอย่างไม่เหลียวแล จงอย่าหวังให้หัวหน้ามองเห็นความดีหรือประสิทธิภาพ อย่าฝันให้หัวหน้าเปลี่ยนใจจากการมองคนที่ “ปาก” มาเป็นการมองที่ “หัวใจ” เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไร แถมคุณจะหมดกำลังในสิ่งที่คุณทำ ถ้าคุณมีความสามารถขนาดนั้น ผมว่าเอาเวลาไปสร้างสรรค์งานให้ดีขึ้น หรือ หาองค์กรใหม่ที่เหมาะสมกับตัวคุณจะดีกว่า
สุดท้ายแล้ว… ความยุติธรรมนั้นหันหน้าให้กับผู้ชนะเสมอ
2. รีบเก็บเกี่ยว “ประสบการณ์” ผ่านการ “ทำงานหนัก”
ถ้าคุณเป็นคนทำงานหนักอย่างมี “ประสิทธิภาพ” ผมเชื่อว่า สิ่งที่คุณได้รับตามมาคือ “ประสบการณ์” อย่างล้นเหลือ ถึงขั้นมีคำกล่าวไว้ว่า “ถ้าเราใช้เวลาทำสิ่งที่เราสนใจเพียงวันละ 20 นาที เราจะเชี่ยวชาญในสิ่งนั้นๆเป็นอย่างดีในอีกไม่ช้า” สำหรับ “การทำงานหนัก” แล้ว ต่อให้คุณไม่สนใจ มันก็ตาม แต่คุณต้อง “จำใจ” ทำมันทั้งวันอยู่ดี บางคนอาจจะต้องทำงานมากกว่าวันละ 12 ชั่วโมงเสียด้วยซ้ำ แต่แทนที่คุณจะบ่นไปวันๆว่างานหนัก แต่คุณควรถามตัวเองกลับว่า “แล้วเราได้รับอะไรจากการทำงานหนัก” บ้างหรือเปล่า จากประสบการณ์ของคนใกล้ตัวของผม ให้นิยามคำว่า “การทำงานหนัก” ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนทำงานหนักเพราะระหว่างวันใช้เวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ บางคนทำงานหนักด้วยความตั้งใจและแน่นอนสิ่งเหล่านั้น คือ แหล่ง “ประสบการณ์” ชั้นดีที่คุณ “เลือก” ที่จะได้รับ
ในทุกๆสถานการณ์ ถ้าคุณเลือกที่จะ “บ่น” คุณก็จะไม่ได้อะไร แต่ถ้าคุณเลือกที่จะ “ค้นหา” คุณอาจจะเจอเพชรล้ำค่าในตัวคุณ แต่… ถ้าหากคุณไม่ได้อะไรจากการทำงานหนักเลยแม้แต่นิด คุณควรถามตัวเองด้วยคำถามว่า… “คุณใช้ชีวิตแบบนี้ได้อย่างไร”
3. ในโลกใบนี้ มีคน “ทำงานหนัก” มากกว่าคุณอีกมากมาย
เมื่อไรที่คุณมองตัวเองว่าคุณทำงานหนัก จงหันมองไปรอบตัวๆ สังเกตดูครับว่า “ยังมีคนที่ทำงานหนักกว่าคุณ”อีกมากมายแค่ไหน โดยเฉพาะคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งหลายที่คุณยึดเป็นแบบอย่าง ล้วนต้องผ่านประสบการณ์ทำงานหนัก มาเพื่อให้ชีวิตพวกเขาสบายอย่างในทุกวันนี้ แต่มันช่างน่าขำตรงไหนรู้ไหมครับ… มันเป็นเพียงเพราะคุณเลือกมองเห็นสิ่งที่เรียกว่า “ความสำเร็จ” จากเปลือกของความร่ำรวยความสบายในวันนี้ จนมองข้ามแก่นที่เขาเหล่านั้นได้รับจากการทำงานหนักแทน จริงอยู่ที่ว่า การทำงานหนัก (Work Hard) ต่างกับการทำงานอย่างฉลาด (Work Smart) แต่ถ้าคุณอยากจะประสบความสำเร็จ คุณจงเลือกทำงานหนักอย่างฉลาด แล้วทุกโอกาสในชีวิตจะเป็นของคุณอย่างแน่นอน
ทุกครั้งที่แหงนมองท้องฟ้า สายตาเรามองเห็นสายรุ้งที่ปลายทางแห่งความสำเร็จ
แต่จงอย่าลืมมองสะเก็ดแผลที่ได้รับจากขวากหนามที่ผ่านมา เพราะนั้นคือสิ่งที่พาคุณมาจนถึง “วันนี้”
4. การ “ทำงานหนัก” ไม่เกี่ยวกับความร่ำรวย
ถ้าการทำงานหนักคือความรวย วันนี้คุณคงเห็นคนรวยเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมดแล้ว จงอย่าเชื่อคำสอนที่ผู้ใหญ่หลายๆคน ชอบพูดบ่อยๆว่า “ความรวยเกิดจากการทำงานหนัก” อย่างเด็ดขาด เพราะความรวยที่แท้จริงนั้นเกิดจาก
- ความถนัดและเชี่ยวชาญในงาน ถ้าคุณเป็นคนทีมีความสามารถเฉพาะทาง ผลตอบแทนของคุณก็ย่อมจะสูงขึ้น ลองคิดดูสิว่า ถ้าคุณสามารถขึ้นเป็น Top 5 ของสายอาชีพที่คุณทำอยู่ได้ รายได้ของคุณจะมากขึ้นแค่ไหน
- การวางแผนการเงิน แน่นอน ถ้าคุณรู้จักเก็บออมและเอาเงินไปลงทุนชนิดที่เรียกว่า “ถูกที่และถูกเวลา” แค่การเก็บเงินเดือนละ 5,000 บาทก็อาจจะทำให้คุณเป็นมหาเศรษฐีโดยที่ไม่รู้ตัว
- การทำธุรกิจ ถ้าคุณทำธุรกิจประสบความสำเร็จ แน่นอนว่าเงินทองจะไหลมาเทมา
และมันยังมีหนทางอื่นๆอีกมากมาย เพียงแต่คุณต้องตามหามันให้เจอเสียก่อน คุณถึงจะมองเห็นมัน …
5. ยิ่งทำงานหนักเท่าไร ยิ่งต้องเห็นคุณค่าของเวลา
เวลาเป็นสิ่งมีค่าที่แสนจะหายาก …. ถ้าลองมองหาตามท้องถนน คุณจะพบคนที่ใส่นาฬิกา แต่พวกเขาเหล่านั้นกลับรู้สึกว่า ไม่มีเวลาแม้แต่จะหยุดฟังเสียงหัวใจตัวเอง คุณค่าของเวลาในมิติแรก คือ “ความอาวุโสจากการทำงานหนัก” ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไร คุณยิ่งไม่สามารถทำตัวเหมือนเด็กที่เพิ่งเข้าทำงานได้อีกต่อไป ใช่ครับ!! คุณไม่สามารถทำตัวงี่เง่ากระจองอแงได้เมื่อคุณกลายเป็นหัวหน้า คุณไม่สามารถตัดสินใจผิดพลาดได้เมื่อคุณกลายเป็นผู้บริหาร ดังนั้นจงใช้เวลาในการทำงานหนักของแต่ละช่วงพัฒนา “วัยวุฒิ” และ “ความเก๋า” ให้มากที่สุด
อย่าลืมถามตัวเองเสมอว่าตอนนี้เราเป็นใคร เรากำลังจะไปที่จุดไหน และสิ่งที่กำลังทำอยู่ในวันนี้มันใช่หรือไม่ เพราะเราไม่สามารถย้อนเวลากลับไปได้…
คุณค่าของเวลาในมิติที่สอง คือ “ความเชี่ยวชาญในการบริหารเวลา” นอกจากความเก๋าที่ได้จากการทำงานหนัก อย่าลืมสร้างความเชี่ยวชาญในการ “บริหารเวลา” ให้กับด้านอื่นๆของชีวิตด้วย เพราะเมื่องานหนักถึงจุดหนึ่ง สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำมักถูกผัดผ่อนด้วยคำว่า “เดี๋ยวก่อน” หรือ “ไว้ทีหลัง” ซึ่งท้ายที่สุดแล้วมันจะกลายเป็นคำว่า“ไม่ได้ทำ” โปรดอย่าลืมว่า คุณไม่สามารถไปงานวันพ่อของลูกคุณได้เมื่อตอนเขาเข้ามหาวิทยาลัย คุณไม่สามารถทานอาหารร่วมกับพ่อแม่ได้เมื่อท่านอยู่ในโลงศพ และคุณไม่สามารถมีสุขภาพที่ดีได้ในวันที่คุณตรวจพบมะเร็งระยะสุดท้าย ดังนั้นไม่ว่าเวลาจะหนักอย่าลืมบริหารเวลาให้กับด้านอื่นๆของชีวิตด้วย
6. สุขภาพ “กาย” และ “ใจ” คือ “ขุมพลัง” ในการทำงานหนัก
คำกล่าวที่ว่า “ไม่ว่าจะงานหนักแค่ไหน แค่เพียงเห็นรอยยิ้มของคนที่เรารักก็หายเหนื่อย” นั้นเป็นความจริงที่ใครหลายคนยอมรับ แต่สำหรับ “รอยยิ้ม” อาจจะสร้างพลังใจได้อย่างเดียว เพราะถ้าหากเราไม่มีสุขภาพกายที่ดี ไม่ว่าจะ “ยิ้มกว้าง” แค่ไหนมันก็เปล่าประโยชน์ คำว่า “สุขภาพกาย” นั้น ไม่ได้แปลว่าไม่เจ็บไม่ป่วย อึด และทนทำงานหนักไหว เพียงแค่นั้น แต่มันหมายถึงคุณต้องมีร่างกายแข็งแรงและปราศจากโรคภัยไข้เจ็บอย่างเด็ดขาด ลองถามตัวเองก่อนไหมว่า
– คุณออกกำลังกายครั้งสุดท้ายเมื่อไร เป็นประจำอาทิตย์ละ 3 ครั้งหรือไม่ – คุณเดินขึ้นบันไดติดต่อกันสามชั้นโดยไม่หยุดพักได้หรือเปล่า – คุณตรวจสุขภาพแล้วพบความเสี่ยงโรคร้ายอะไรบ้าง แล้วคุณแก้ไขยังไง – คุณต้องทานยาอย่างสม่ำเสมอ และมีโรคประจำตัวมากแค่ไหน – คุณทานอาหารที่มีประโยชน์บ้างหรือเปล่า
การทานอาหารที่มีประโยชน์ช่วยให้ร่างกายนำสารอาหารไปใช้ได้ครบถ้วน ส่วนการออกกำลังกายไม่เพียงแต่สร้างความแข็งแรง และสุขภาพที่ดีเพียงเท่านั้น มันทำให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุข (เอนโดรฟิน) และทำให้คุณเสริมสร้างความคิดด้านบวกของตัวเองโดยที่ไม่รู้ตัว นี่คือแหล่งเคล็ดลับของพลังใจอีกอย่างหนึ่ง ที่คนทำงานหนักหลายคนหลงลืมไป
ส่วนพลังใจที่ดีนั้น… ถ้าวันนี้ยังไม่มีใครสร้างให้คุณได้ จงเลือกที่จะสร้างให้ตัวเองก่อน แล้วอย่าลืมเผื่อแผ่ไปยังคนรอบข้างที่มีความสัมพันธ์กับคุณด้วยครับ
7. จงทำงานที่ดี งานที่ดีกว่า และงานที่ดีที่สุด
การทำงานหนักไม่ได้แปลว่าจะได้งานที่ดี แต่งานที่ดีหลายๆงานเกิดจากการทำงานหนัก เจ้านายเก่าคนหนึ่งของผมพูดไว้ เพราะงานที่ดีนั้นต้องผ่านการใคร่ครวญและกระบวนความคิดอย่างหนัก
ถ้าข้าพเจ้ามีเวลา 6 ชั่วโมงในการตัดต้นไม้ ข้าพเจ้าจะใช้ 4 ชั่วโมงแรกไว้ลับขวาน” — อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln)
วันนี้คุณใช้เวลาคิดใคร่ครวญในการทำงานหนักบ้างหรือไม่ หรือว่าเอาแต่ทำมันเข้าไปเรื่อยๆ จนมันเสร็จก็พอใจแล้ว เพราะการทำงานที่ดีนั้น มันต้องผ่านการลงมือทำ และทำมันซ้ำๆจนกว่าจะเจอคำว่า ดีที่สุด!! เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก ชิ้นงานที่คุณคิดว่าดีและทุ่มเทเวลากับมันอย่างหนักนั้น คุณจะสังเกตเห็นข้อบกพร่องตามมาเต็มไปหมด ผมขอบอกเลยว่านั่นไม่ใช่ผลของการทำงานหนัก หรือมันเป็นงานไม่ดี แต่นี่คือหลักฐานในการพัฒนาของคุณต่างหาก
เรียนรู้ข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อสร้างสรรค์งานคุณภาพในปัจจุบัน และสร้างฝันสู่อนาคต
8. งานหนักไม่ใช่สาเหตุของการเปลี่ยนงาน
ทุกครั้งที่คุณคิดเปลี่ยนงานเพราะว่างานหนัก ขอให้คุณหยุดพัก นั่งนิ่งๆ แล้วคิดใหม่ก่อนว่า “ปัญหา” นั้นเกิดจากใคร ถ้าคุณเปลี่ยนงานเพราะต้องการหนีปัญหา หรือ หนีคำว่า “งานหนัก” ผมเชื่อเหลือเกินว่าคุณต้องหนีปัญหาแบบนี้ไปตลอดชีวิต
งานหนักไม่ใช่คำตอบของการลาออก แต่คุณควรตัดสินใจลาออกเมื่องานนั้นไม่ได้พัฒนาคุณอีกต่อไป
9. คุณไม่สามารถทำงานหนักไปตลอดชีวิต
เมื่อพูดถึงข้อนี้ขึ้นมา มันอาจจะทำให้ข้อที่แล้วๆ มาเหมือนเรื่องตลกหมูกะทะ แต่มันคือเรื่องจริงที่แสนเศร้า เพราะชีวิตของเราทุกคนนั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทำงานหนักเพียงอย่างเดียว ต่อให้คุณจะบริหารเวลาดีแค่ไหน และอย่างไรก็ตาม แต่สิ่งที่คุณต้องการจริงๆก็คือ “การหยุดพัก” และ “ชื่นชมความงามระหว่างทางของชีวิต” เราไม่สามารถวิ่งสี่คูณร้อยโดยไม่หยุดพัก เราไม่สามารถจัดหนักตัวเองเพื่อคนอื่นได้ตลอดไป ผมมักจะแนะนำคนอื่นๆ เสมอว่า… “งานหนัก” ในช่วงหนึ่งของชีวิตสร้าง “ประสบการณ์” แต่คุณจะต้องสร้าง “การทำงานที่ชาญฉลาด” ให้กับตัวเอง หากวันนี้คุณต้องทำงานหนัก คุณจงอุทิศตัวเองเพื่อมันอย่างสุดใจและตระหนักในความสำคัญของชีวิต ถ้าวันนี้การทำงานหนักคือ “ความจำเป็น” จงทำมันเพื่อให้มองเห็น “อนาคตที่ดี” และ… ถ้างานหนักไม่เคย “ฆ่าคน” คุณยิ่งเป็นคนที่ต้อง “ฆ่ามัน” ออกไปจากชีวิต เขียนขึ้นด้วยความนับถือคนทำงานหนักทุกคน ขอให้ทุกคนหลุดพ้นและเจอหนทางของตัวเอง ด้วยความเคารพ เกรย์แมน (Mr.GraymanV2)
CREDIT : aommoney.com