9 นิสัยร้ายทำลายความเป็นมืออาชีพ

ในการทำงาน เรามักจะสนใจแต่เป้าหมายงาน การเลื่อนตำแหน่ง และเงินเดือนเป็นสำคัญ แต่ลืมไปรึเปล่าว่าระหว่างการทำงาน ระหว่างทางของเป้าหมาย เรายังต้องทำงานร่วมกับหลายคนในทีมเดียวกันด้วย ? ถ้ายังอยากก้าวหน้าแบบสงบ ดูดี มาตัดนิสัยแย่ๆ 9 อย่างนี้ เพื่อความเป็นมืออาชีพในการทำงานกันเถอะ !

 

1. ขี้บ่น

บ่นในภารกิจกองโตที่จะต้องสะสาง บ่นในความเปลี่ยนแปลงนโยบายบริษัท บ่นๆๆๆๆ ในเรื่องใดก็ตามมันทำให้คุณกลายเป็นคนนิสัยเสียไปโดยอัตโนมัติ แค่นิดหน่อยคุณก็โชว์นิสัยเด็กเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อให้คนอื่นเห็นซะแล้ว อย่าหวังจะได้เลื่อนตำแหน่งเลย เพราะเพื่อนร่วมงานก็ไม่อยากจะสนับสนุน เจ้านายก็ไม่อยากจะให้คุณมีวุฒิภาวะเด็กน้อยแบบนี้ไปรับผิดชอบหน้าที่ที่สูงขึ้นไปให้เสี่ยงมากกว่าคุ้มเปล่าๆ

 

2. ไม่เคยออกรับหน้า

เป็นแค่คนรับฟังคำสั่งอย่างเดียว ไม่ออกความคิดเห็นใดๆ ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะต้องถูกพิจารณาให้อยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่านี้ เพราะคุณขาดภาวะความเป็นผู้นำ ไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้ามีส่วนร่วมกับคนอื่น

 

3. พูดมากกว่าฟัง

อย่าทะนงตนว่าตัวคุณเองเป็นคนเก่งที่สุด มนุษย์ทุกคนในโลกนี้ไม่มีใครเพอร์เฟคไปเสียทุกด้าน คุณมีสิทธิพูดได้ แต่ก็ควรให้สิทธิผู้อื่นพูดด้วยเช่นกัน ยิ่งคุณเปิดโอกาสรับฟังมากเท่าไหร่ โลกทัศน์ของคุณก็ยิ่งกว้างขึ้น การงานก็ก้าวหน้าได้ง่ายขึ้นตามไปด้วย

 

4. ไม่ดูแลตัวเอง

ขยันทำโอทีมากเกินไป นอนดึกตื่นมาเข้างานสายบ่อยๆ ทานแต่อาหารขยะ ไม่รักษาความปลอดภัยของตัวเองในการทำงาน (เช่น แอบถอดหมวกขณะเดินในไซต์งานก่อสร้าง) ในตอนแรกคุณอาจจะมองไม่เห็นปัญหาสักเท่าไหร่ อย่างมากก็แค่ไม่สบายนิดหน่อย ลาพักสักครึ่งวัน-เต็มวันก็หายดีแล้ว แต่ถ้าเป็นบ่อยๆ จนสะสมเป็นปัญหาเรื้อรังเข้า ในที่สุดมันก็อาจรุนแรงกว่าที่คิด เช่น เป็นโรคร้ายแรง เกิดอุบัติเหตุในที่ทำงาน ถ้ารักที่ก้าวหน้าในการงานอาชีพ ก็อย่าลืมรักสุขภาพของตัวเองด้วย

 

5. สร้างข้อแก้ตัวในข้อผิดพลาด

เมื่อเกิดปัญหาบางอย่างขึ้น อย่านึกว่าคนอื่นเขามองไม่ออกว่าคุณกำลังแก้ปัญหาด้วยการหาข้ออ้างหรือต้องการจะอธิบายเหตุผล เพราะความคิด, ความรู้สึก และพฤติกรรม เป็นการแสดงออกที่ฟ้องได้ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคุณจะแก้ปัญหาด้วยวิธีไหน ถ้าคุณไม่เรียนรู้ในข้อผิดพลาด คุณไม่มีวันเติบโตขึ้นได้แน่นอน

 

6. ไม่มีความนิ่มนวลในการวิจารณ์

มันเป็นไปได้ยากมากที่เราจะหลีกเลี่ยงการ feedback เพื่อนร่วมงานด้วยกัน แต่เมื่อใดก็ตามที่จำเป็นต้องบอกข้อเสียของเขา ควรมีศิลปะในการพูดจาเพื่อป้องกันการกระทบกระทั่งน้ำใจกันไปมากกว่านี้ อาจกล่าวขอโทษอย่างสุภาพก่อนจะวิจารณ์โดยตรง แล้วตบท้ายด้วยการให้กำลังใจเขา ให้เขารู้สึกว่าคุณก็เป็นทีมเดียวกันกับเขา ไม่ได้ตั้งใจจะสร้างศัตรูในการทำงานแต่อย่างใด

 

7. พูดถึงเพื่อนร่วมงานในด้านลบ

นอกเหนือจากการวิจารณ์การทำงาน อย่าสร้างเรื่องอื่นมาทำลายน้ำใจกันไปมากกว่านี้ด้วยนิสัยขี้เม้าท์ ขี้นินทาเพื่อหาพรรคพวกในที่ทำงานเด็ดขาด ถึงแม้มันจะทำให้คุณดูมีเพื่อนเยอะ สนิทกับคนนั้นคนนี้ไปทั่ว แต่ในภายหลัง คุณก็ต้องถูกพวกเขานินทา ใส่ร้ายป้ายสีบ้าง เหมือนที่คุณเคยทำกับคนอื่นมาแล้วนั่นแหละ

 

8. แสดงทัศนคติแย่ๆ ออกมา

โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่วิกฤต ชี้เป็นชี้ตายของชีวิตได้ เช่น ข่าวการเสียชีวิตของคนใดคนหนึ่ง สถานการณ์การก่อการร้าย ข่าวอาชญากรรม อย่าแสดงความคิดเห็นในทิศทางที่คะนองปาก สนุกโดยไม่รู้กาลเทศะ หากเจ้านายคุณรู้ เพื่อนร่วมงานคุณรู้ พวกเขาก็มีสิทธิที่จะพิจารณาว่าคุณเป็นคนประเภทไหน ควรให้คนที่มีความคิดอันตรายแบบนี้อยู่หรือไปจากตำแหน่งงานใดบ้าง

 

9. ทำงานได้ไม่ดีเท่ามาตรฐานที่คนอื่นทำกัน

ขี้เกียจเช็คอีเมล์ โดดประชุม ขโมยไอเดียเพื่อนร่วมงาน ทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม หวังแต่เงินเดือนเพียงอย่างเดียว อย่าทำเด็ดขาด เพราะนี่คือการลดคุณค่าของตัวเองไปโดยอัตโนมัติ ถ้าคุณอยากได้ความก้าวหน้าคุณต้องลงมือทำงานและมีทักษะทางสังคมกับเพื่อนร่วมงานเท่านั้น

การลงทุนลงแรงให้ถูกที่ถูกทางเท่านั้นที่จะทำให้เราภาคภูมิใจได้อย่างสง่าผ่าเผย

ถ้าคุณเคยเกลียดวันจันทร์ ดี๊ด๊าวันศุกร์ เกลียดที่ต้องทนกับเพื่อนร่วมงานเป็นสัปดาห์กว่าจะเลิกงาน เกลียดที่ต้องทนทำงานเป็นเดือนกว่าจะได้เงินเดือน ลองปรับทัศนคติให้ตัวเองมีคุณค่าในการทำงานดู คุณอาจจะรักและผูกพันกับงานมากขึ้นโดยไม่รู้ตัวเลยก็ได้

 

ที่มา : www.jeeb.me