Sexual Harassment พฤติกรรมที่ควรแก้ก่อนจะแย่ไปทั้งองค์กร

หลายปีที่ผ่านมา เราเห็นการรณรงค์เรื่อง Bully, Body Shaming และ Sexual Harassment กันมาจนหลายคนเริ่มตระหนักและคิดให้มากขึ้นก่อนจะพูดหรือแซวคนรอบข้าง แต่ในขณะเดียวกันหลายคนก็ยังไม่ตระหนักและยังทำพฤติกรรมเหล่านี้จนกลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำในสังคม รวมไปถึงในสังคมการทำงาน และส่งผลให้บรรยากาศการทำงานในบริษัทแย่ลง ซึ่งหลายครั้งที่คนทำงานหรือ HR อาจมองว่าเป็นเรื่องปกติ แค่แซวเล่นขำ ๆ แต่มันอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทมากกว่าที่คุณคิดก็ได้ JobThai เลยอยากมาพูดถึงเรื่องของการ Sexual Harassment ในองค์กรที่ HR ไม่ควรมองข้าม เพราะเรื่องนี้อาจส่งผลกระทบในแง่ร้ายต่อองค์กรได้

 

วิธีแก้ไขเมื่อพนักงานมาปรึกษาเรื่องถูก Sexual Harassment

 

หากมีพนักงานมาปรึกษากับเราในเรื่องของความอึดอัดในการทำงาน เนื่องจากเขารู้สึกว่าตัวเองถูกคุกคามทางเพศ สิ่งที่ HR ควรทำคือการฟังเรื่องราวนั้นอย่างตั้งใจ อย่าทำว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ และให้พนักงานยอมรับมัน นอกจากนี้ห้ามแสดงออกหรือพูดอะไรที่เป็นการโทษเหยื่อ (Victim Blaming) เป็นอันขาด อย่างคำว่าคุณใส่เสื้อวาบหวิวหรือเปล่า คุณเฟรนด์ลี่เกินไปไหม หรือวันหลังก็ดูแลตัวเองสิ เพราะคนทุกคนมีสิทธิในการแต่งตัวหรือแสดงออกในแบบที่ตนต้องการ และคำถามเหล่านี้มีแต่จะทำให้ผู้เสียหายไม่กล้าออกมาเรียกร้อง เพราะรู้สึกว่าถ้าออกมาแล้วจะถูกตั้งคำถาม ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกมีบาปติดตัว โทษตัวเอง และเกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตตามมา ทั้ง ๆ ที่คนที่ผิดหรือคือคนที่เป็นฝ่ายคุกคามต่างหาก

 

เมื่อเกิดเรื่องการคุกคามในองค์กรบ่อยครั้ง HR ควรออกกฎระเบียบหรือพิจารณาถึงบทลงโทษอย่างชัดเจน เพื่อปกป้องพนักงานไม่ว่าเขาจะอยู่ในระดับไหน เพราะบางครั้งเมื่อหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชาเป็นฝ่าย Sexual Harassment คนอื่น ๆ ก็จะไม่กล้าที่จะขัดขืนหรือปฏิเสธ หาก HR อยากสร้างให้สถานที่ทำงานเป็นที่ที่น่าทำงานและมีความปลอดภัย เมื่อมีเหตุการณ์ที่พนักงานถูกล่วงละเมิดหรือคุกคาม HR ก็ไม่ควรนิ่งเฉย และดำเนินเรื่องทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎระเบียบ และสร้างความเป็นธรรมให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทันที

อย่างที่บอกไปว่าการแซวเล่นในบางครั้ง ผู้กระทำอาจไม่ได้คิดอะไรเลยด้วยซ้ำ แต่เป็นเพราะเขาเห็นและเขาทำจนกลายเป็นเรื่องปกติ แม้จะฟังดูไม่สมเหตุสมผล แต่ก็มีแต่ตัวผู้ถูกกระทำเท่านั้นที่ต้องบอกเขาไปว่าตัวเองไม่โอเค ซึ่งบางคนเขาอาจจะรับฟังและสะท้อนอะไรบางอย่างในตัวเขาเองได้ แต่ถ้ารู้ตัวและยังทำอยู่ การดำเนินการด้วยกฎของบริษัทหรือกฎหมายก็เป็นสิ่งที่ HR ควรทำเพื่อพนักงานในองค์กร ในขณะเดียวกันหากเราเป็นคนเห็นเหตุการณ์แบบนี้ในองค์กรเราก็ไม่ควรนิ่งเฉย เราอาจลองค่อย ๆ เข้าไปถามความรู้สึกหรือยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือหากพนักงานคนนั้นต้องการ

 

Source:

th.hrnote.asia

petcharavejhospital.com

wongnai.com

shortrecap.co

Credit:

https://blog.jobthai.com/